Reith, John Charles Walsham, Baron Reith of Stonehaven (1889-1971)

จอห์น ชาลส์ วอลชัม รีท บารอนรีท แห่งสโตนเฮเวน (พ.ศ. ๒๔๓๒-๒๕๑๔)

จอห์น ชาลส์ วอลชัม รีทเป็นผู้จัดการใหญ่คนแรกของบริษัทกระจายเสียงแห่งอังกฤษและเมื่อบริษัทขยายกิจการเป็นบรรษัทมหาชน เขาได้เป็นผู้อำนวยการคนแรก


(ค.ศ. ๑๙๒๗-๑๙๓๘) ของบรรษัทกระจายเสียงแห่งอังกฤษหรือบีบีซี (British Broadcasting Corporation-BBC* เขาพัฒนาการกระจายเสียงวิทยุให้ขยายไปทั่วเกาะอังกฤษและริเริ่มการให้บริการกระจายเสียงโดยคลื่นสั้นไปอาณานิคมในดินแดนโพ้นทะเล รีทยังวางระบบการทำงานทั้งหมดของสถานีเพื่อให้เป็นสื่อสาธารณะที่มีอิสระในการทำงานโดยไม่ถูกควบคุมและแทรกแซงจากรัฐบาล เพื่อให้ทำหน้าที่สำคัญของสื่อมวลชน ๓ ประการ คือ ให้ความบันเทิง ให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง และให้ความรู้ (entertaining, informing and educating)

 รีทเกิดเมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๘๙ ในครอบครัวเคร่งศาสนาที่สโตนเฮเวน (Stonehaven) คินคารดินเชียร์ (Kincardineshire) เมืองกลาสโกว์ เขาเป็นบุตรคนสุดท้องในบรรดาบุตรชาย ๕ คนและบุตรสาว ๒ คน ของศาสนาจารย์ ดร.จอร์จ รีท (Dr. George Reith) แห่งโบสถ์เดอะยูไนเต็ดฟรีเชิร์ช (The United Free Church) ของสกอตแลนด์ กับเอดาห์ (Adah) มารดาเชื้อสายอังกฤษเมื่อเขาเกิด บิดาอายุ ๔๗ ปีและมารดาอายุ ๔๑ ปี เขาจึงถูกเลี้ยงดูโดยพยาบาลพี่เลี้ยงเป็นส่วนใหญ่และแทบจะไม่มีโอกาสใกล้ชิดกับบิดาซึ่งมีงานรัดตัวเสมอ ใน ค.ศ. ๑๘๙๖ เขาเข้าเรียนที่กลาสโกว์อะคาเดมี (Glasgow Academy) เนื่องจากเป็นคนใจร้อนและโมโหง่ายทั้งรูปร่างสูงใหญ่กว่าเด็กวัยเดียวกัน (เมื่อเข้าสู่วัยฉกรรจ์เขาสูงถึง ๑๙๕ เซนติเมตร) เพื่อนนักเรียนต่างกลัวเขา นอกจากนี้ รีทยังไม่เอาใจใส่การเรียนมากนัก โรงเรียนจึงให้เขาลาออกใน ค.ศ. ๑๙๐๓ เมื่ออายุได้ ๑๕ ปี ใน ค.ศ. ๑๙๐๔ รีทไปเข้าเป็นนักเรียนประจำของโรงเรียนเกรชัมส์ (Gresham’s) ที่โฮลต์ (Holt) เมืองนอร์ฟอล์ก (Norfolk) และนับเป็นนักเรียนชาวสกอตที่นับถือศาสนานิกายเพรสไบทีเรียนเพียงคนเดียวของโรงเรียนที่โรงเรียนใหม่ เขากลับเนื้อกลับตัวและด้วยความเป็นเด็กฉลาดก็มักสอบได้คะแนนดีโดยไม่ต้องขยันเรียนมากนักอย่างไรก็ตาม บิดาไม่สนับสนุนให้เขาเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยและต้องการให้มีอาชีพเป็นวิศวกรจึงให้ไปสมัครเป็นเด็กฝึกงานที่บริษัทรถจักรนอร์ทบริติช (North British Locomotive Company) ระหว่างการฝึกงานรีทสมัครเป็นอาสาสมัครแบบไม่เต็มเวลาในหน่วยทหารอาสาสมัครปืนเล็กยาวลานาร์กเชียร์ที่ ๑ (1ˢᵗ Lanarkshire Rifle Volunteers) และหน่วยทหารปืนเล็กยาวสกอตที่ ๕ (5ᵗʰ Scottish Rifles)

 ใน ค.ศ. ๑๙๑๒ ขณะอายุได้ ๒๒ ปี รีทสนิทกับชาร์ลี เบาว์เซอร์ (Charlie Bowser) เด็กหนุ่มวัย ๑๕ ปีซึ่งต่อมาเขาถูกกล่าวหาว่ามีความชอบพอเชิงชู้สาวกับเบาว์เซอร์แม้ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนแต่ในเวลาต่อมาคนทั้งสองก็ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันระยะหนึ่งและแยกทางกันใน ค.ศ. ๑๙๒๑ หลังฝึกงานสำเร็จใน ค.ศ. ๑๙๑๔ รีทได้ตามครอบครัวของเบาว์เซอร์ไปกรุงลอนดอนแม้ว่าบิดาจะคัดด้านก็ตามเขาทำงานในบริษัทวิศวกรรมเอส. เพียร์สันแอนด์ชัน (S. Pearson & Son) ซึ่งรับผิดชอบงานต่อเดิมท่าเรืออัลเบิร์ต (Royal Albert Dock) โดยได้ค่าจ้างสัปดาห์ละ ๑ ปอนด์ ๕๐ ชิลลิง หลังทำงานได้ ๑ เดือน เขาก็ได้ค่าจ้างขึ้นเป็น ๒ ปอนด์ต่อสัปดาห์ ค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นทำให้รีทคาดหวังถึงอนาคตที่มั่นคงในการทำงานกับบริษัท เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* เขาถูกเรียกตัวเป็นทหารและได้ไปประจำการที่ฝรั่งเศส ในเวลาอันรวดเร็ว เขาได้รับการเลื่อนยศเป็นร้อยโทและต่อมาถูกย้ายไปอยู่ฝ่ายวิศวกรรม (Royal Engineers) แต่ในวันที่ ๗ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๕ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายก่อนที่จะย้าย เขาถูกยิงที่แก้มซ้ำยซึ่งได้กลายเป็นแผลเป็นบนใบหน้าและถูกส่งไปรักษาตัวที่สกอตแลนด์เมื่อออกจากโรงพยาบาลแล้ว รีทได้เป็นผู้แทนกองทัพไปทำงานกับโรงงานผลิตกระสุนปืนในเกรตนา (Gretna) และ ได้พบกับอี. ดับเบิลยู. มัวร์ (E. W. Moir) อดีตเจ้านายจากบริษัทเอส. เพียร์สันแอนต์ชัน และมีโอกาสเดินทางไปสหรัฐอเมริกาพร้อมกับมัวร์ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๖ เพื่อจัดหาปืนและกระสุนให้รัฐบาลอังกฤษเขาทำงานที่บริษัทเรมิงตันอามส์ (Remington Arms) ซึ่งตั้งอยู่นอกเมืองฟิลาเดลเฟีย มลรัฐเพนซิลเวเนียและได้เรียนรู้การบริหารกิจการขนาดใหญ่โดยรับผิดชอบดูแลทีมงานตรวจสอบคุณภาพอาวุธปืนซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญชาวอังกฤษ ๓๐ คนและชาวอเมริกัน ๑,๕๐๐ คน

 ตลอดระยะเวลา ๑๘ เดือนในสหรัฐอเมริกา รีทได้ประสบการณ์เกี่ยวกับการกล่าวปราศรัยต่อสาธารณชนเพราะได้รับเชิญไปกล่าวบรรยายตามสถาบันการศึกษาชั้นนำต่าง ๆ เช่น มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน มหาวิทยาลัยลาฟาแยตและมีโอกาสพบกับบุคคลที่มีชื่อเสียงคนสำคัญของสหรัฐอเมริกา เช่น จอห์น ดี. ร็อกกีเฟสเลอร์ จูเนียร์ (John D. Rockefeller, Jr.) แต่เมื่อสหรัฐอเมริกาเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ ๑ ใน ค.ศ. ๑๙๑๗ บริษัทเรมิงตันอามส์ต้องผลิตอาวุธปืนให้กับรัฐบาลสหรัฐอเมริกาแทน รีทจึงหมดหน้าที่และเดินทางกลับอังกฤษในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ และได้รับการเลื่อนยศเป็นร้อยเอก เขาถูกโอนไปสังกัดฝ่ายวิศวกรรมของนาวิกโยธิน (Royal Marine Engineers) ใน ค.ศ. ๑๙๑๘ เพื่อดูแลการก่อสร้างทำนบไฟฟ้าพลังนํ้าข้ามช่องแคบอังกฤษและต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๑๙ ได้เลื่อนยศเป็นพันตรี หลังสงครามโลกเขากลับมาสังกัดฝ่ายวิศวกรรม อีกครั้งหนึ่งเพื่อดูแลเรื่องที่อยู่ของทหารซึ่งเป็นตำแหน่งสุดท้ายของเขาในกองทัพบก

 ใน ค.ศ. ๑๙๒๐ รีททำงานเป็นผู้จัดการทั่วไปของบริษัทวิศวกรรมวิลเลียม เบียดมอร์ (William Beardmore & Co) ในเมืองโคตบริดจ์ (Coatbridge) ใกล้ ๆ กับเมืองกลาสโกว์แต่ลาออกในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๒๒ และย้ายกลับกรุงลอนดอน เขาก้าวเข้าสู่การเมืองในช่วงการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. ๑๙๒๒ โดยทำงานเป็นเลขานุการให้กับกลุ่มยูเนียนของพรรคทอรี (Unionist Tory) ซึ่งมีออสเตน เชมเบอร์เลน (Austen Chamberlain)* เป็นแกนนำและยังคงต้องการร่วมรัฐบาลผสมของนายกรัฐมนตรีเดวิด ลอยด์ จอร์จ (David Lloyd George)* ใน ค.ศ. ๑๙๒๑ รีทแต่งงานกับมิวเรียล โอดัมส์ (Muriel Odhams) ซึ่งเขาคบหามาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๑๘ และมีบุตรธิดาด้วยกัน ๒ คน คือ คริสโตเฟอร์ จอห์น (Christopher John) และมาริสตา (Marista)

 ใน ค.ศ. ๑๙๒๒ เจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมผลิตเครื่องรับวิทยุ เช่น บริติชทอมสัน-ฮิวสตัน (British Thomson-Houston) เจเนอรัลอิเล็กทริก (General Electric) มาร์โคนี แอนด์เมโทรพอลิทัน-วิกเกอรส์ (Marconi and Metro-politan-Vickers) ได้ร่วมทุนกันก่อตั้งบริษัทกระจายเสียง แห่งอังกฤษ และเปิดรับสมัครผู้จัดการใหญ่ประจำสถานีวิทยุรีททราบข่าวการรับสมัครงานจากหนังสือพิมพ์ The Morning Post และแม้จะไม่มีความรู้หรือประสบการณ์เกี่ยวกับกิจการวิทยุแม้แต่น้อยแต่เขาก็ไปสมัคร เขาผ่านการสัมภาษณ์และได้เป็นผู้จัดการใหญ่คนแรกของสถานีวิทยุบีบีซีของอังกฤษโดยได้รับเงินเดือน ๑,๗๕๐ ปอนด์ต่อปี สถานีวิทยุบีบีซีตั้งอยู่ที่คิงส์เวย์ (Kingsway) กรุงลอนดอนและเริ่มกระจายเสียงครั้งแรกเมื่อวันจันทร์ที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๒๓ รีทวางระบบการทำงานของสถานีทั้งหมดและเปรียบเทียบตนเองกับ วิลเลียม แคกซ์ตัน (William Caxton) ซึ่งเป็นผู้เริ่มต้นสื่อสิ่งพิมพ์ของอังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕ รีทกล่าวไว้ไนหนังสืออัตชีวประวัติ into the Wind ว่า เซอร์วิลเลียม โนเบิล (William Noble) ประธานคณะกรรมการของบริษัทให้อิสระแก่เขาในการบริหารและทำงานอย่างเต็มที่ สถานีวิทยุบีบีซีได้รับเงินสนับสนุนจากค่าธรรมเนียมที่ผู้เป็นเจ้าของเครื่องรับวิทยุจ่ายให้แก่รัฐบาลใน ค.ศ. ๑๙๒๓ อังกฤษมีงานสำคัญระดับชาติ ๒ งาน คือ การแสดงอุปรากรที่โคเวนต์ การ์เดน (Covent Garden) และงานอภิเษกสมรสของดุ๊กแห่งยอร์กซึ่งต่อมาคือพระเจ้าจอร์จที่ ๕ (George V)* สถานีวิทยุบีบีซีได้รับการสนับสนุนจากอธิการแห่งวิหารเวสต์มินสเตอร์ให้ทำการถ่ายทอดเสียงพิธีการในโบสถ์แต่ถูกคัดค้านโดยคณะบาทหลวงแห่งวิหารเวสต์มินสเตอร์ (Chapter of Westminster Abbey)

 รีทต้องการพิมพ์ตารางรายการการกระจายเสียงของสถานีวิทยุบีบีซีให้สาธารณชนรู้ล่วงหน้าเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ฟังและเพิ่มจำนวนผู้ฟังด้วย เขาได้รับความช่วยเหลือจากกอร์ดอน เซลฟริดจ์ (Gordon Selfridge) เจ้าของห้างสรรพสินค้าซึ่งได้ลงโฆษณาสินค้าใน The Pall Mall Gazette เซลฟริดจ์อนุญาตให้สถานีวิทยุบีบีซีพิมพ์ตารางการกระจายเสียงลงในพื้นที่โฆษณาของเขา ซึ่งมีส่วนทำให้ยอดขายของหนังสือพิมพ์เพิ่มขึ้น ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๒๓ รีทจัดพิมพ์นิตยสาร The Radio Times จำหน่ายซึ่งได้รับความนิยมมากและมียอดขายมากกว่า ๒๘๕,๐๐๐ ฉบับ ทั้งทำกำไรจำนวนมากให้กับบริษัท คณะกรรมการของบริษัทจึงเสนอให้รีทมีส่วนแบ่งในผลกำไรด้วยแต่เขาปฏิเสธที่จะรับเพราะเกรงว่าคณะกรรมการจะฉวยโอกาสเข้าแทรกแซงการทำงานของสถานีและเงินก็ไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดในการทำงานของเขา อย่างไรก็ตาม รีทได้ใช้ตำแหน่งเป็นประโยชน์บ้าง เช่น เมื่อเขาทราบว่า ดร.แรนดอล เดวิดสัน อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอบิวรี (Dr. Randall Davidson, Archbishop of Canterbury) ซึ่งเขาเชิญมาเยี่ยมบ้านชอบฟังเพลงบรรเลงโดยเปียโน รีทโทรศัพท์ถึงสแตนตัน เจฟฟรีส์ (Stanton Jeffries) หัวหน้าฝ่ายดนตรีของสถานีทันทีและเดวิดสันก็ได้ฟังเพลงบรรเลง “Marche Militaire” จากวิทยุซึ่งทำให้เขาประทับใจในตัวรีทมาก

 รีทประสบความสำเร็จในการบริหารสถานีวิทยุบีบีซี มากแม้ว่าจะเป็นการบริหารแบบเผด็จการก็ตาม จำนวนผู้ฟังและผู้เสียค่าธรรมเนียมวิทยุเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งทำรายได้จำนวนมากให้กับผู้ถือหุ้นของบริษัท สถานีวิทยุบีบีซีกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตชาวอังกฤษรีทได้วางหลักการทำงานที่สำคัญของสถานีไว้ ๓ ประการ คือ ให้ความบันเทิง ให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง และให้ความรู้ เขายังเน้นการทำหน้าที่อย่างโปร่งใส เปิดโอกาสให้แก่คนทุกกลุ่ม และยึดมั่นในผลประโยชน์ของสาธารณชน หลักการเหล่านี้กลายเป็นคำเรียกเฉพาะว่า “หลักการรีท” (Reithianism)

 สถานีวิทยุบีบีซีมีบทบาทสำคัญในการรายงานเหตุการณ์การนัดหยุดงานทั่วไปของกรรมกรอังกฤษในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๒๖ รีทซึ่งเป็นผู้อำนวยการใหญ่ (Director-General) พยายามให้สถานีวิทยุบีบีซีรายงานข่าวและเสนอความเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในปัญหาความขัดแย้งซึ่งส่งผลให้สถานีเป็นที่ยอมรับและมีชื่อเสียงมากขึ้น แต่ก็ทำให้มีปัญหากับรัฐบาล นายกรัฐมนตรีสแตนลีย์ บอลด์วิน (Stanley Baldwin)* ซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ดีกับรีทยอมรับในจุดยืนของเขาและให้รีทเสนอเรื่องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย วิลเลียม จอยน์สัน-ฮิกส์ (William Joynson-Hicks) ซึ่งรับผิดชอบเรื่องการประท้วง จอยน์สัน-ฮิกส์ เห็นด้วยกับรีท แต่รัฐมนตรีคนอื่น ๆ เช่น วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill)* ไม่เห็นด้วยเพราะเห็นว่าสถานีวิทยุบีบีซีควรเป็นกระบอกเสียงให้กับรัฐบาล

 ระหว่างการชุมนุมนัดหยุดงาน รีทตรวจการรายงานข่าวและดูแลเรื่องผลกระทบด้านการเมืองด้วยตัวเองเขาอนุญาตให้อ่านแถลงการณ์ของสภาสหภาพแรงงาน (Trade Union Congress-TUC) ออกอากาศ แต่กลับปฏิเสธคำขอของเดวิดสัน อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอบิวรีที่ต้องการพูดออกอากาศให้กรรมกรยุติการนัดหยุดงานเพื่อให้เกิดสันติภาพและให้รัฐบาลยังคงจ่ายเงินอุดหนุนอุตสาหกรรมเหมืองถ่านหินต่อไปโดยไม่ลดค่าแรงของคนงานเหมืองรีทปฏิเสธคำขอของเดวิดสันเพราะเกรงว่ารัฐบาลโดยเฉพาะ เชอร์ชิลล์จะฉวยโอกาสสร้างเงื่อนไขที่จะเข้าควบคุมการทำงานของสถานี แม้ว่าเขาจะพยายามให้สถานีวิทยุบีบีซีทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง แต่ก็ยังถูกวิจารณ์จากแรมเซย์ แมกดอนัลด์ (Ramsay MacDonald)* หัวหน้าพรรคแรงงาน (Labour Party)* และผู้แทนพรรคแรงงานคนอื่น ๆ ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้พูดออกอากาศ หลังจากการนัดหยุดงานยุติลงรีทชี้แจงต่อสาธารณชนว่าแม้สถานีวิทยุบีบีซีจะพยายามทำหน้าที่สื่อมวลชนที่เป็นอิสระและเป็นกลางแต่เมื่อเหตุการณ์ถึงขั้นวิกฤติ รัฐบาลก็มีอำนาจที่จะเข้าแทรกแซงและควบคุมการทำงานของสถานีได้ ความสำเร็จในการบริหารสถานีวิทยุบีบีซีทำให้ร็ทได้รับการแต่งตั้งเป็นอัศวินในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๒๖ แต่เขาก็ไม่พอใจในบรรดาศักดิ์ที่ได้รับเพราะคิดว่าเขาสมควรจะได้รับการแต่งตั้งในระดับที่สูงกว่านั้น

 แม้ว่ารีทจะเป็นผู้บริหารระดับสูง แต่เขาก็ทำหน้าที่รายงานข่าวด้วยเมื่อเกิดเหตุการณ์สำคัญ ๆ เช่น ในการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. ๑๙๒๙ ซึ่งพรรคแรงงานได้รับชัยชนะ รีทอ่านผลการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วยตัวเอง เมื่อเอริก ดันสตัน (Eric Dunstan) ผู้อ่านข่าวประจำของสถานีแจ้งว่าผู้ฟังขอให้รีทอ่านช้าลงและให้ชัดเจนขึ้น รีทซึ่งเชื่อมั่นตนเองสูงไม่ยอมรับคำวิจารณ์และดันสตันก็ถูกปลดในวันต่อมา นอกจากนี้ รีทยังเป็นเจ้านายที่เคร่งครัดในศาสนา เช่น เมื่อปีเตอร์ เอ็กเกอรส์ลีย์ (Peter Eckersley) หัวหน้าวิศวกรของสถานีซึ่งมีครอบครัวแล้วมีปัญหาชู้สาวกับภรรยาของที่ปรึกษาด้านดนตรีของสถานี รีทได้ให้เอ็กเกอรส์ลีย์ลาออกจากงาน

 สถานีวิทยุบีบีซีได้รับอนุญาตให้ผูกขาดการกระจายเสียงแต่เพียงสถานีเดียวจนถึง ค.ศ. ๑๙๒๖ หลังจากนั้นไม่มีหลักประกันว่าสถานีจะยังคงสามารถผูกขาดการบริการต่อไปได้ รีทจึงวิตกว่าการมีคู่แข่งขันทางธุรกิจอาจทำให้สถานีวิทยุบีบีซีจำต้องลดมาตรฐานการบริการลงและรัฐบาลอาจเข้าแทรกแซงการทำงานมากขึ้น เขาจึงเสนอให้แปรสภาพกิจการของสถานีจากบริษัทเอกชนเป็นบรรษัทมหาชนในพระบรมราชานุญาตโดยมีคณะผู้ว่าการ (Board of Governors) ที่รัฐบาลแต่งตั้งรวม ๑๒ คนทำหน้าที่บริหารคณะผู้ว่าการจะแต่งตั้งผู้อำนวยการและคณะกรรมการดำเนินการและคอยตรวจสอบไม่ให้บรรษัทถูกแทรกแซงด้านการดำเนินงานและอื่น ๆ บริษัทวิทยุกระจายเสียงบีบีซีจึงได้เปลี่ยนเป็นบรรษัทมหาชน (British Broadcasting Corporation) ที่ไม่มุ่งผลกำไรใน ค.ศ. ๑๙๒๗ ตามข้อเสนอของรีท หลังจากแปรสภาพกิจการ รีทกลับทำงานลำบากมากขึ้น คณะผู้ว่าการชุดใหม่ตรวจสอบการทำงานของเขาอย่างเข้มงวด ทำให้รีทไม่พอใจและไม่ไว้ใจลอร์ดแคลเรนดอน (Lord Clarendon) ประธานคณะผู้ว่าการและกรรมการหลายคน เช่น เอเทล สโนว์เดน (Ethel Snowden) ภรรยาของฟิลิป สโนว์เดน (Philip Snowden) อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลังของพรรคแรงงาน เมื่อลอร์ดแคลเรนดอนประธานคณะผู้ว่าการลาออกใน ค.ศ. ๑๙๓๐ รีทได้เสนอตัวเองเป็นประธานคนใหม่ แต่นายกรัฐมนตรีแมกดอนัลด์จากพรรคแรงงานไม่เห็นด้วย ทำให้เขาไม่พอใจแมกดอนัลด์มาก

 กิจการของสถานีวิทยุบีบีซีพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วยดีภายใต้การบริหารของรีท และชาวอังกฤษที่เป็นเจ้าของเครื่องรับวิทยุก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นตามลำดับ รีทตั้งเป้าหมายว่าจะทำให้คนทั่วจักรวรรดิอังกฤษสามารถรับฟังการกระจายเสียงของสถานีได้ รัฐบาลและนักการเมืองอังกฤษเห็นด้วยกับความคิดของรีท และนำไปสู่การมีรายการบีบีซีเวิลด์เซอร์วิสขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๓๒ รีทกล่าวสุนทรพจน์เปิดการกระจายเสียงของสถานีวิทยุบีบีชีโดยคลื่นสั้นไปทั่วจักรวรรดิอังกฤษ และต้องกล่าวสุนทรพจน์เปิดถึง ๕ ครั้งภายในเวลากว่า ๕๐ ชั่วโมง เพราะเวลาในแต่ละภูมิภาคแตกต่างกัน แม้จะประสบความสำเร็จในการขยายกิจการของสถานี แต่ใน ค.ศ. ๑๙๓๔ รีทก็ถูกสอบสวนโดยคณะกรรมาธิการของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคอนุรักษนิยม (Conservative Party)* เกี่ยวกับการบริหารงานแบบเผด็จการและปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างเขากับเจ้าหน้าที่ของสถานีตามที่หนังสือพิมพ์หลายฉบับรายงาน อย่างไรก็ตาม รีทรอดพ้นจากข้อกล่าวหาเพราะเขาได้ยื่นจดหมายที่เจ้าหน้าที่ ๘๐๐ คนเซ็นชื่อสนับสนุนการทำงานของเขาเป็นหลักฐานต่อคณะกรรมาธิการสภาฯ

 ใน ค.ศ. ๑๙๓๖ เมื่อเกิดวิกฤตการณ์สละราชสมบัติ (Abdication Crisis)* สืบเนื่องจากพระเจ้าเอดเวิร์ดที่ ๘ (Edward VIII)* ทรงสละราชบัลลังก์เพื่ออภิเษกสมรสกับวอลลิส ซิมป์สัน (Wallis Simpson) สตรีม่ายชาวอเมริกัน ระหว่างที่รอให้รัฐสภาอังกฤษเห็นชอบ พระองค์มีพระประสงค์จะกล่าวลาชาวอังกฤษทั้งประเทศ รีทได้เดินทางไปยังพระราชวังวินด์เซอร์เพื่ออำนวยความสะดวกและดูแลการถ่ายทอดสดพระราชดำรัสของพระเจ้าเอดเวิร์ดที่ ๘ ด้วยตัวเอง การดำเนินงานของรีททำให้พระเจ้าเอดเวิร์ดที่ ๘ ทรงประทับใจมาก อย่างไรก็ดี เมื่อถึงพระราชพิธีราชาภิเษกของพระเจ้าจอร์จที่ ๖ (George VI)* รีทซึ่งไม่เห็นด้วยกับการขยายกิจการของสถานีวิทยุบีบีซีให้ครอบคลุมด้านโทรทัศน์ด้วยเพราะเห็นว่าโทรทัศน์จะทำให้คนปิดตัวเองและละทิ้งการใช้ชีวิตในสังคม ใน ค.ศ. ๑๙๓๗ เขาได้ปฏิเสธข้อเสนอที่ให้สถานีโทรทัศน์บีบีซีเป็นผู้บันทึกงานพระราชพิธีครั้งนี้ เมื่อเขาลาออกจากสถานีวิทยุและโทรทัศน์บีบีซีใน ค.ศ. ๑๙๓๘ ของชิ้นหนึ่งที่เขาไม่ต้องการและทิ้งไว้ที่สถานีฯ เป็นเครื่องรับโทรทัศน์ ๑ เครื่อง

 ในต้นเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๓๘ เซอร์ฮอเรซ วิลสัน (Horace Wilson) ที่ปรึกษาระดับสูงของนายกรัฐมนตรีเนวิลล์ เชมเบอร์เลน (Neville Chamberlain)* ได้เสนอให้รีทเป็นประธานบริษัทอิมพีเรียลแอร์เวยส์ (Imperial Airways) ซึ่งรัฐบาลสนับสนุนด้านการเงินแต่กิจการกำลังยํ่าแย่ รีทไม่ปฏิเสธข้อเสนอแต่มีเงื่อนไขว่านายกรัฐมนตรีเชมเบอร์เลนต้องแจ้งกับเขาโดยตรงและหลังจากพูดคุยกับเชมเบอร์เลน รีทก็รับข้อเสนอ จึงเป็นการสิ้นสุดการบริหารสถานีวิทยุบีบีซีที่ยาวนานถึง ๑๘ ปีของเขา ในวันที่ ๓๐ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๓๘ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการทำงาน เขาไม่ยอมให้มีพิธีการอำลาใด ๆ ทั้งสิ้น เมื่อลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่แล้ว รีทคาดหวังว่าเขาจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการคนหนึ่งในคณะผู้ว่าการ แต่ประธานไม่ยอมแต่งตั้งเขาด้วยเหตุผลว่าหากเขายังคงมีตำแหน่งอยู่ในสถานีจะทำให้ผู้ที่รับตำแหน่งต่อจากเขามีปัญหาในการทำงาน

 สายการบินอิมพีเรียลแอร์เวยส์เป็นสายการบินบริการรับ-ส่งผู้โดยสารและไปรษณียภัณฑ์ระหว่างประเทศในเครือจักรภพซึ่งรัฐบาลสนับสนุนด้านการเงินและมีเอกชนถือหุ้นด้วย ใน ค.ศ. ๑๙๓๘ กิจการของสายการบินตกตํ่าเพราะไม่สามารถแข่งขันกับสายการบินแห่งชาติอื่น ๆ ได้ เช่น สายการบินลุฟท์ฮันซา (Lufthansa) แอร์ฟรานซ์ (Air France) รีทต้องเร่งฟื้นฟูกิจการของสายการบิน เขาบริหารงานแบบเผด็จการเช่นเดียวกับการบริหารสถานีวิทยุกระจายเสียงบีบีซีและเสนอให้แปรสภาพสายการบินเป็นรัฐวิสาหกิจและรวมกิจการเข้ากับสายการบินอื่น ๆ ของอังกฤษที่ประสบความสำเร็จ เช่น บริติชแอร์ไลน์ (British Airline) บริติช แอร์เวยส์ (British Airways) สี่เดือนต่อมา รัฐบาลเห็นชอบกับแผนการของรีท ทำให้สายการบินนี่กลายเป็นบรรษัทสายการบินบริติชโอเวอร์ซีส์หรือบีโอเอซี (British Overseas Airways Corporation-BOAC)

 ในทศวรรษ ๑๙๓๐ รีทแสดงความชื่นชมลัทธิฟาสซิสต์ (Fascism)* อย่างเปิดเผย เขาเห็นด้วยกับการปกครองประเทศแบบเบ็ดเสร็จของเบนีโต มุสโสลีนี (Benito Mussolini)* ผู้นำอิตาลีและอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำพรรคนาซี (Nazi Party)* ในเยอรมนี ต่อมา เมื่อเยอรมนีบุกโปแลนด์ใน ค.ศ. ๑๙๓๙ และนำไปสู่การเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* นายกรัฐมนตรีเชมเบอร์เลนได้แต่งตั้งให้รีทเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงข่าวสาร (Minister of Information) ในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๔๐ แม้จะเป็นรัฐมนตรีในนามของรัฐบาลแห่งชาติ ไม่ได้สังกัดพรรคการเมือง แต่รีทก็ต้องเป็นสมาชิกสภาล่าง เขาจึงสมัครเข้ารับเลือกตั้งและได้เป็นผู้แทนของเขตเซาท์แทมป์ตัน (Southampton) ต่อมาเมื่อเคลเมนต์ แอตต์ลี (Clement Attlee)* ผู้นำพรรคแรงงานถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลแห่งชาติในวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ ทำให้เชมเบอร์เลนต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในบ่ายวันเดียวกันนั้น เปิดโอกาสให้เชอร์ชิลล์ซึ่งรีทมองว่าเป็นศัตรูขึ้นมาเป็นผู้นำรัฐบาลเชอร์ชิลล์แต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงข่าวสารคนใหม่ส่วนรีทได้ตำแหน่งใหม่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการขนส่ง (Minister of Transport) ซึ่งเขาคิดว่าเป็นตำแหน่งที่มีงานให้รับผิดชอบไม่มากนักเพราะกิจการรถไฟและเรือเดินทะเลมีหน่วยงานรับผิดชอบเฉพาะอยู่แล้ว ต่อมาในวันที่ ๒ ตุลาคมปีเดียวกัน รีทถูกย้ายไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและอาคาร (Minister of Works and Buildings) และมีที่นั่งในสภาสูง เขาอยู่ในตำแหน่งนี้ ได้ปีเศษก็ถูกปลดในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๒ และได้รับการแต่งตั้งเป็นบารอนรีทแห่งสโตนเฮเวน (Baron Reith of Stonehaven) ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขาในสกอตแลนด์ รีทเขียนจดหมายถึงเพื่อนในกองทัพเรือเพื่อหางานที่ท้าทายทำ เขาได้งานในกองทัพเรือพร้อมกับยศนาวาตรีซึ่งเป็นยศที่ตํ่ากว่าที่เขาเคยเป็นมา ประสบการณ์ของรีทในการบริหารและการจัดการองค์กรขนาดใหญ่มีประโยชน์มากต่อการจัดระบบการเดินเรือรบและขนส่งยุทธปัจจัยที่อังกฤษจะใช้ในปฏิบัติการยกพลขึ้นบกของฝ่ายพันธมิตรในวันดี-เดย์ (D-Day)* ค.ศ. ๑๙๔๔ เขามีบทบาทในการวางแผนจนได้รับการยอมรับให้เข้าถึงข้อมูลลับของกองทัพเรือได้ เดิมกองทัพเรือคาดว่าอังกฤษจะมีเรือพร้อมปฏิบัติการในวันดี-เดย์ ร้อยละ ๘๐ แต่รีทสามารถทำให้มีเรือพร้อมมากกว่าร้อยละ ๙๐ รวมจำนวนกว่า ๒,๕๐๐ ลำ ทำให้เขาได้รับความชื่นชมจากกองทัพเรือมาก รีทลาออกจากกองทัพเรือในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๔ และใน ค.ศ. ๑๙๔๕ เขาได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์แห่งบาท (Companion of the Bath) ซึ่งมอบให้แก่พลเรือนอาวุโสและนายทหารระดับสูงของอังกฤษ

 หลังจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลง รีทได้ทำงานในตำแหน่งสูง ๆ อีกหลายแห่งแต่ไม่มีงานไหนที่เขามีอิทธิพลเท่ากับงานที่สถานีวิทยุบีบีซี เขายังพยายามหางานในระดับชาติหรือระหว่างประเทศตลอดเวลา เป็นต้นว่า ตำแหน่งเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (United Nations)* เขาคัดค้านการแต่งตั้งลอร์ดหลุยส์ เมาท์แบตเทน (Louis Mountbatten)* เป็นอุปราชแห่งอินเดีย (Viceroy of India) เพราะเห็นว่าขาดความสามารถและเขาน่าจะมีความเหมาะสมมากกว่า แม้รีทจะมีวัยสูงขึ้นแต่เขายังคงกระตือรือร้นและต้องการทำงานที่ท้าทายและมีความรับผิดชอบสูง เมื่อแอตต์ลีชนะการเลือกตั้งใน ค.ศ. ๑๙๕๐ เขาเขียนจดหมายถึงแอตต์ลีเพื่ออาสาช่วยทำงาน ต่อมา ขณะอายุ ๗๕ ปี เขาเขียนจดหมายแบบเดียวกันถึงฮาโรลด์ วิลสัน (Harold Wilson)* นายกรัฐมนตรีจากพรรคแรงงาน

 ใน ค.ศ. ๑๙๔๖ รีทให้สัมภาษณ์โดยยอมรับว่าเขาแทบจะไม่ได้ฟังการกระจายเสียงของสถานีวิทยุบีบีซีเลยยกเว้นช่วงที่มีการเลือกตั้งหรือมีเหตุการณ์สำคัญเท่านั้นเขาไม่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้บริหารของสถานี ยกเว้นวิลเลียม ฮาเลย์ (William Haley) ซึ่งเสนอให้มีการจัดปาฐกถาประจำปีของสถานีในนามของรีทซึ่งดำเนินมาจนถึงปัจจุบันเมื่อรัฐบาลพรรคอนุรักษนิยมชนะการเลือกตั้งใน ค.ศ. ๑๙๕๑ มีการเสนอให้เปิดสถานีโทรทัศน์แห่งที่ ๒ ที่เป็นการลงทุนของเอกชนเชิงพาณิชย์ซึ่งสามารถโฆษณาสินค้าหารายได้รัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการกิจการโทรทัศน์อิสระ (Independent Television Authority) ขึ้นเมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๕๔ และสถานีโทรทัศน์เชิงพาณิชย์แห่งแรกได้เริ่มออกอากาศใน ค.ศ. ๑๙๕๔ การผูกขาดการให้บริการทำงโทรทัศน์ของบีบีซีจึงสิ้นสุดลง รีทคัดด้านการเปิดกิจการโทรทัศน์เชิงพาณิชย์ของเอกชนอย่างมากเพราะเห็นว่าการหาผลประโยชน์จากกิจการโทรทัศน์จะยิ่งทำให้สังคมเสื่อมและเป็นธุรกิจมากเกินไป แต่การคัดค้านของเขาแทบไม่มีผลแต่อย่างใด ส่วนการผูกขาดกิจการวิทยุของสถานี วิทยุบีบีซีสิ้นสุดใน ค.ศ. ๑๙๗๒

 ในบั้นปลายชีวิต รีทกลับไปทำงานในสกอตแลนด์และได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๖๕-๑๙๖๘ เขายังได้เป็นผู้แทนพระองค์ในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ ๒ (Elizabeth II)* ในการประชุมสามัญประจำปีของนิกายสกอตแลนด์ (Annual General Assembly of the Church of Scotland) ใน ค.ศ. ๑๙๖๗ และในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกันก็ทำหน้าที่อุปราชแห่งสกอตแลนด์เป็นเวลา ๑ สัปดาห์ และทำหน้าที่นี้อีกครั้งหนึ่งใน ค.ศ. ๑๙๖๘ ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๗๐ เขาย้ายเข้าไปอยู่ในคฤหาสน์ซึ่งเคยเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ ๒ แต่ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๗๑ ก็ประสบอุบัติเหตุหกล้มและต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล เขาถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๗๑ ขณะอายุได้ ๘๑ ปี เถ้ากระดูกของเขาถูกเก็บไว้ที่โบสถ์โรทิเมอร์คัส (Rothiemurchus) ในเพิร์ทเชียร์ (Perthshire) รีทได้เขียนหนังสืออัตชีวประวัติของตนเองไว้ ๒ เล่มด้วยกัน คือ Into the Wind (ค.ศ. ๑๙๔๙) และ Wearing Spurs (ค.ศ. ๑๙๖๖).



คำตั้ง
Reith, John Charles Walsham, Baron Reith of Stonehaven
คำเทียบ
จอห์น ชาลส์ วอลชัม รีท บารอนรีท แห่งสโตนเฮเวน
คำสำคัญ
- เครือจักรภพ
- จอยน์สัน-ฮิกส์, วิลเลียม
- เชมเบอร์เลน, เนวิลล์
- เชอร์ชิลล์, วินสตัน
- ซิมป์สัน, วอลลิส
- เซลฟริดจ์, กอร์ดอน
- ดันสตัน, เอริก
- นิกายเพรสไบทีเรียน
- นิกายสกอตแลนด์
- โนเบิล, เซอร์วิลเลียม
- บอลด์วิน, สแตนลีย์
- พรรคทอรี
- พรรคนาซี
- พรรคแรงงาน
- พรรคอนุรักษนิยม
- มัวร์, อี. ดับเบิลยู.
- มุสโสลีนี, เบนีโต
- เมาท์แบตเทน, ลอร์ดหลุยส์
- แมกดอนัลด์, แรมเซย์
- รีท, จอห์น ชาลส์ วอลชัม
- ลอยด์ จอร์จ, เดวิด
- ลัทธิฟาสซิสต์
- วันดี-เดย์
- วิกฤตการณ์สละราชสมบัติ
- สกอตแลนด์
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สหประชาชาติ
- หลักการรีท
- แอตต์ลี, เคลเมนต์
- โอดัมส์, มิวเรียล
- ฮาเลย์, วิลเลียม
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1889-1971
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๓๒-๒๕๑๔
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สุธีรา อภิญญาเวศพร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-